หน้าแรก > Academic, Astronomy > วิชาดาราศาสตร์จำเป็นหรือไม่?? สำหรับประเทศไทย

วิชาดาราศาสตร์จำเป็นหรือไม่?? สำหรับประเทศไทย

"วิชาดาราศาสตร์จำเป็นสำหรับเมืองไทยหรือ?"

"เรียนดาราศาสตร์ไปทำอะไร?"

"ทำมาหากินอะไรได้?"

"ดูดาวนี่หากินได้เหรอ?"

"ดาราศาสตร์ัยังไม่เหมาะกับประเทศที่ยังไม่ร่ำรวยอย่างเราหรอก แค่หากินให้อิ่มท้องก็บุญแล้วจะดูดาวไปทำไม?"

และอีกมากมายหลายต่อหลายคำถามที่เคยได้ยินผ่านอินเตอร์เนต  หรือแม้แต่ได้ยินเข้าเต็มรูหูซ้ายผ่านสมองขี้เลื่อยของผมแล้วไปออกรูหูขวา (แล้วผมก็ยิ้มหึๆ ปิดหน้าจอ แล้วก็ไปนอน ขอเวลาคิดก่อน ตอบยากชะมัดเลย)

ด้่วยมันสมองระดับ 80486DX  100 MHz   (80496SX+Math Co-Processor  มันเป็นซีพียูรุ่นก่อนหน้า Pentiumแจ้งเกิดนะครับ) Ram 2 Mb   HD 250 MB (สเปคเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในชีวิต)  ผ่านไปหลายปี ผมก็ตกผลึก (นานจริงๆ) และก็ตอบปัญหาของตัวเองได้ซะที ส่วนจะเป็นที่พอใจท่านผู้ขัดข้องหรือไม่นั้นไม่อาจรับรองได้ 

ดาราศาสตร์ก็แค่การดูดาว??

ก่อนอื่นผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับดาราศาสตร์แล้วตั้งแง่กับมัน ก็คือ เพราะคิดว่าวิชานี้มันเป็น "วิชาดูดาว"  ใช่ครับดาราศาสตร์เริ่มต้นมาจากการดูดาวก็จริง แต่นั่นมัน "โบราณ" มากๆเลยนะ

การดูดาวจดบันทึกตำแหน่งสังเกตสังกา มาเป็นเวลานับสิบนับร้อยปี ทำให้มนุษย์ใช้การเคลื่อนที่ของเทหวัตถุทั้งดาว ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ในการกำหนดกิจกรรมของตัวเอง นำไปสู่การสร้างปฏิทิน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วก็เพื่อการเกษตร มนุษย์ใช้ปฏิทินเืพื่อกำหนดเวลาเพาะปลูก ไถหว่าน และเก็บเกี่ยว  ดังนั้นคนที่มีความรู้ทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์จึงมีความสำคัญเอามากๆ   นอกจากนี้วิชาดาราศาสตร์ยังพามนุษย์ท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ไม่ว่าทะเลทราย ป่า มหาสมุทร  ชาวประมง นายพราน ล้วนแต่ต้อง "ดูดาวเป็น" ทั้งสิ้น  

คราวนี้ก็ต้องมีคนบอกว่า อ้าว!! แต่ตอนนี้เรามีปฏิทินมาตรฐานกันแล้วนี่  แผนที่ก็มีแล้ว  GPS ก็มีแล้ว  ไม่เห็นจำเป็นต้องดูดาวเลย?   ใช่ครับ อันนี้เห็นด้วย แต่ในขณะที่ความเป็นโลกาภิวัฒน์ และเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้า   "ดาราศาสตร์" ก็ก้าวพ้นขอบเขตของ "การดูดาว" ไปแล้วเช่นกัน  

เมื่อกระบวนวิธีทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามาแต่เมื่อครั้งยุคกาลิเลโอ  คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีิวิทยาฯ  ก็ก้าวหน้ามาเรื่อยๆ และยิ่งศาสตร์เหล่านี้รุดหน้า  ดาราศาสตร์ก็รุดหน้าเช่นกัน  ทุกวันนี้ดาราศาสตร์มีสาขาย่อยออกมามากมาย  อาทิ    Astrophysics,  Astrobiology,  Planetary Science, Solar Astronomy/Astrophysics   cosmology  หรือหากจะแบ่งตามย่านความถี่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าการสังเกตการณ์ ก็เป็น X-Ray Astronomy, Optical Astronomy, Radio Astronomy, Infrared Astronomy, Gamma-Ray Astronomy เป็นต้น 

ที่ว่ามาจะเห็นว่าดาราศาสตร์ศึกษาเอาตั้งแต่สิ่งใกล้ตัวตั้งแต่ ซากอุกกาบาต หลุมอุกกาบาต บนโลก  ดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์ ดาวอังคาร  ดาวหาง  ดาวเคราะห์น้อย  ดาวฤกษ์  ก๊าซในอวกาศระหว่างดาว  ระบบดาวคู่ ระบบดาวหลายดวง  กระจุกดาว  กาแลกซี  กระจุกกาแลกซี  ไปจนถึงระดับเอกภพในวิชา cosmology ผ่านเครื่องมือระดับแลบธรณีวิทยา คอมพิวเตอรกำลังสูงสำหรับจำลองเหตุการณ์  เครื่องเร่งอนุภาค  กล้องโทรทรรศน์แบบแสงในย่านที่ตามนุษย์มองเห็น กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ไปจนถึงกล้องโทรทรรศน์แบบที่ส่งไปโคจรนอกโลกกันเลยทีเดียว 

แล้วศึกษาไปทำไมล่ะของมันไกลตัวขนาดนั้น?

นักวิทยาศาสตร์ด้านนี้ศึกษาสิ่งไกลตัว เพื่ออธิบายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองครับ

ตัวอย่างเช่น

ถ้าเราไม่ศึกษาดาวฤกษ์ดวงอื่นๆ ก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า  ธาตุหนักตั้งแต่ ฮีเลียม ลิเธียม เบริลเลียม คาร์บอน ไปจนถึงเหล็ก ถูกสังเคราะห์ขึ้นในดาวฤกษ์ ส่วนพวกที่หนักกว่านั้นถูกสังเคราะห์ผ่านกระบวนการอื่นๆ ในอวกาศอีก  พูดง่ายๆ ก็คือนิวเคลียสธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นโมเลกุลสิ่งมีชีวิตล้วนถูกสร้างภายในดาวฤกษ์ทั้งสิ้น นั่นแหละรากเหง้าล่ะ

เราศึกษาดวงอาทิตย์ดวงเดียวไม่พอ หากเราค้นหาดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ ก็ย่อมได้ข้อมูลในแบบที่ดวงอาทิตย์ให้ไม่ได้ เพื่อเติมเต็มช่องว่างแห่งความไม่เข้าใจเกี่ยวกับดวงอาทิตย์  ก็เพื่ออะไรล่ะ ถ้าไม่ใช่เพื่อคาดการณ์ทำนายปรากฏการณ์จากดวงอาทิตย์ที่อาจส่งผลร้ายแรงกระทบต่อมวลมนุษย์บนโลกนี้  

นักวิิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์วิทยาที่ศึกษาสภาพเรือนกระจกของดาวศุกร์หรือดาวเคราะห์ทั้งในและนอกระบบสุริยะ  ก็เพื่อทำความเข้าใจลักษณะอุตุนิยมวิทยา ทดสอบทฤษฎีอุตุนิยมวิทยา ซึ่งนำมาใช้กับการทำนายสภาพอุตุนิยมวิทยาของโลกได้  ศึกษาสภาพโลกร้อนได้

 

อวกาศเป็นสถานที่ที่เกิดปรากฎการณ์แปลกๆ คาดไม่ถึง เกินคาดเดาอีกมาก เหตุการณ์ที่ก่อกำเนิดพลังงานสูง อย่างที่ห้องแลบบนโลกที่ไหนอาจจะสร้างไม่ได้ภายในระยะเวลาอันใกล้ (และปลอดภัยเพราะดูอยู่ไกลนั่นเอง) นั้นมีอยู่มากมาย  เหตุการณ์ที่ชี้จุดบกพร่องของทฤษฎีเดิม อย่างการค้นพบการขยายตัวของเอกภพ(ซึ่งขัดแย้งกับเอกภพแบบคงตัวตามความสมมติฐานของไอน์สไตน์ในสัมพัทธภาพทัี่วไป)โดยฮับเิบิล     ก็ยังรอคอยให้มนุษย์ค้นพบอยู่

ดังนั้นการมองไกลเพื่อตอบปัญหาใกล้ตัวจึงไม่ใช่เรื่องเกินจำเป็น

 

ดาราศาสตร์ใ้ช้หาประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้หรือ? 

ถ้าพูดในแง่งานวิจัยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เอาไปค้าขายล่ะก็  ก็ตอบได้ยากมาก  เนื้องานดาราศาสตร์หรือดาราศาสตร์ฟิสิกส์จัดเป็นงานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ไม่ใช่งานประยุกต์ที่จะเอาไปทำผลิตภัณฑ์ได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ  แต่ในระยะยาวนั้นไม่แน่ครับ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สำคัญๆ ช่วงแรกๆ ก็สร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฎการณ์หรือแก้ไขทฤษฎีพื้นฐานเดิมทั้ืงสิ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทฤษฎีเบื้องต้นเหล่านั้นแข็งแกร่ง แตกแขนงและหยั่งรากได้มากขึ้น งานด้านประยุกต์จึงตามมา  เช่น  ทฤษฎีสัมพัทธภาพ  ทฤษฎีควอนตัม เป็นต้น (ทุกวันนี้คงไม่มีใครกังขากับสองทฤษฎีที่จัดว่าเป็นหัวหอกของฟิสิกส์ุยุคใหม่)

หมายเหตุ แต่ถ้าจะเอาแบบใกล้เคียงกับการสร้างผลิตภัณฑ์เอาไปขายหาเงินได้ล่ะก็ ขอแนะนำให้ทำด้านอุปกรณ์ครับ   ฝนเลนส์ ฝนกระจกเว้า สร้างกล้องโทรทรรศน์ใ้ห้เก่งก็ทำเงินได้  ถ่ายรูปดาวเอาไปขายก็ทำเงินได้  รับเคลือบกระจกเคลือบเลนส์ก็ได้  ผลิตอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อื่นๆ ก็ทำเงินได้  (แต่ก็ต้องการเงินทุนกับความชำนาญสูงเช่นกัน)   หรืออย่าง CCD ที่ใช้ในกล้องถ่ายรูป แรกเริ่มเดิมทีเป็นแนวคิดของนักคิดจาก Jet Propulsion Laboratory ในสังกัด NASA ที่ต้องการใช้ในงานด้านอวกาศและดาราศาสตร์

 

แล้วประเทศเราจนขนาดนี้ งานด้านดาราศาสตร์้ต้องใช้เงินทุนสูงมาก เราจะทำได้หรือ?

เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรเกินตัวครับ  เราทำวิจัยเท่าที่เงินทุนเราจะมีได้  อาจจะทำด้านทฤษฎีหรือด้านการจำลองปรากฎการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ (ขอแ้่ค่ค่า หนังสือ กระดาษ  คอมพิวเตอร์และกาแฟ เท่านั้้นแหละ)   ในเมื่อฐานะเรายังจนเท่านี้ ก็ยังไม่ถึงเวลาทำจรวดส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศขึ้นไปเอง 

หากเราไม่มีอุปกรณ์ก็อาจจะขอใช้กับของต่างประเทศได้  แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นถ้าเราจะดุ่ยๆ ไปขอเขาใช้ โดยไม่เคยรู้จักมักจี่ไม่มีสายสััมพันธ์  ไม่มีใครรู้จัก  หรือไม่มีเหตุผลเพียงพอ ก็คงจะยากอยู่  ดังนั้นทำยังไงให้เขารู้จักเราล่ะ   ก็ต้อง"ผลิตงานวิจัย" ออกสู่สังคมวิชาการโลก  ส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศไม่ใช่เพื่อเอาความรู้อย่างเดียว แต่เพื่อสร้าง connection กับนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ   ต้องเร่งสร้างงานใ้ห้เป็นที่ยอมรับในวงการ   มั่นไปประชุมเสนอผลงาน  พบปะกันในหมู่แวดวงนักวิชาการต่างประเทศ  

อีกอย่างคือเราไม่จำเป็นต้องออกเงินทำเองหมด  หากเรารวมกลุ่มกันได้มากพอก็แชร์เงิน แชร์ความรู้และกำลังคนจากประเทศอื่นได้  อย่างยุโรปเองก็มีรวมกันเป็นสหภาพยุโรปและมี  European Space Agency ถ้าเราจะรวมกลุ่มกันในแถบอาเซียน  หรือสร้างความร่วมมือกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง

 

แล้วงานดาราศาสตร์สำคัญอย่างไรกับประเทศเราแล้วจะให้คนเชื่อได้ยังไงว่าสำคัญ

ถ้าถามว่างานวิัจัยด้านนี้ำสำคัญโดยตรงกับประเทศเราไหม  อันนี้ย้ำอีกว่า งานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ไม่ว่าสาขาใด การจะได้ผลประโยชน์เป็นตัวเงินโดยตรงนั้นไม่โดดเด่นออกมาเหมือนงานประยุกต์หรืองานวิจัยที่ตอบสนองอุตสาหกรรม  แต่ผลประโยชน์เชิงวิชาการนั้นมีแน่นอน    ปัญหาก็คือเราจะทำอย่างไรให้สังคมเราเป็นสังคม "วิชาการนิยม" ไม่ใ่ช่สังคม     "ความเชื่อนิยม" หรือ  "เงินนิยม"  เพราะถ้าอะไร ก็มัวแต่ถามว่าทำเงินได้ไหม  มีเงินเป็นตัวตั้งเสียก่อนแล้ว  เรื่องทำงานด้านวิชาการแท้ๆ คงเป็นไปได้ยาก

 

งั้นถามว่าเราพอมีพอกินกันหรือยัง?  ก่อนจะมาเริ่มต้นกับดาราศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เนี่ยไม่มีกินก่อน ก็คงอะไรไม่ได้ใช่ไหม?

ผมคงไม่อาจเอื้อมตอบปัญหาเชิงเศรษฐศาสตร์  แต่เมื่อพิจารณาแล้ว เรามีพืชผลเกษตรที่ส่งออกไปขายได้ ก็แสดงว่าเรายังพอเหลือบริโภคภายในประเทศ เพียงแต่ว่าปัญหากลับอยู่ที่การแบ่งปันผลประโยชน์แบ่งปันผลผลิตระหว่าง ผู้ผลิต(เกษตรกร)กับพ่อค้า   พอเกษตรกรเสียเปรียบ(วันยังค่ำ) ปัญหาการไหลเข้าเมืองใหญ่  ผู้เฒ่าผู้แก่ในชนบทขาดคนดูแล คนมากระจุกอยู่ในเมือง ความเจริญไม่กระจาย  ปัญหาสังคมเมืองก็เกิด ชนบทก็มีปัญหา อะไรๆ ตามมา เป็นหางว่าวเลย  

แต่ถ้าจะมามัวเลือกสางปมนู้นแก้ปมนี้ก่อน  เห็นจะไม่ทันการ เราคงต้องสางปัญหาและเริ่มงานใหม่ๆ ไปพร้อมกัน ทุกองคาพยพในสังคม   ที่ทำหน้าที่แก้ก็แก้ไป ที่ทำหน้าที่สร้างก็สร้างไป (แต่อย่าลืมประสานงานกัน)  เพราะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่เราล้วนเป็นฟันเฟืองขยับเขยื้อนประเทศและโลกใบนี้ทั้งสิ้น…

อนึ่ง ผลประโยชน์ทางวิชาการโดยตรงย่อมตกอยู่กับผู้คิดค้นก่อนเป็นลำดับแรก  เมื่อเราอยู่ในโลก งานของเราไปส่งเสริมไปเกื้อหนุนให้กับงานของคนทั้งโลกด้วย และงานของคนทั้งโลกก็เกื้อหนุนงานของเรา  สุดท้ายคนทีี่่ใช้ประโยชน์ก็คือคนทั้งโลก(รวมเราด้วย)   (งงกันเหรือเปล่า วกวนดีนะ??)

หา่กมุมมองเดิมคือทำเืพื่อตัวเองก่อนแล้วค่อยแบ่งให้คนอื่น  แต่มุมมองนี้คือทำงานเพื่อคนทั้งโลกก่อนแล้วผลประโยชน์ก็จะกลับมาหาเรา   ซึ่งแบบไหนก็ไม่ผิดทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเราเลือก

เกือบลืมตอบคำถามที่จั่วหัวไว้

คำตอบของคำถามคงต้องทิ้งไว้ให้พิจารณากันตามอัธยาศัย

แต่สำหรับผมดาราศาสตร์ก็จำเป็นและมีความสำคัญเท่าเทียมกับวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ ไม่ว่าบริสุทธิ์หรือประยุกต์

edit @ 10 Sep 2008 22:28:40 by Eddalion

หมวดหมู่:Academic, Astronomy
  1. ตุลาคม 26, 2009 เวลา 1:37 PM

    ขอบคุณ มาก คะ บท ความดี มาก ๆ ^^

  2. กุมภาพันธ์ 4, 2010 เวลา 9:00 PM

    จำเป็นครับ เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ไม่เชื่อ แม้แต่เรื่องพระอาทิตย์ตกที่ไหนก่อนกัน (พอดีเพิ่งบล็อกเรื่องดังกล่าว แล้วไต่แท็ก astronomy มาเจอครับ)

  3. bbb
    พฤษภาคม 14, 2010 เวลา 1:36 PM

    ขอบคุณ บทความดีๆคับ

  4. ธันวาคม 9, 2010 เวลา 4:23 AM

    ขอบคุณทุกความเห็น แต่ตอนนี้ผมมีประเด็นบางอย่างที่จะบอกว่า จำเป็นก็ได้ หรือไม่จำเป็นก็ได้เสียแล้ว

  5. ธันวาคม 9, 2010 เวลา 4:25 AM

    ในฐานะผู้เขียน หลังจากเวลาผ่านไปเกือบสองปีนับแต่พิมพ์ครั้งแรก ถึงตอนนี้ ผมคิดว่าจำเป็นต้อง Revise บทความนี้ให้ดีกว่านี้ รัดกุมกว่านี้ครับ

  1. No trackbacks yet.

ใส่ความเห็น